วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2562

การดำเนินงานตามเกณฑ์ AUN QA

การดำเนินงานตามเกณฑ์ AUN QA
        หลักการสำคัญของ AUN-QA นั้น ได้แก่ การมุ่งเน้นให้เกิดการจัดการศึกษาแบบมุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ หรือ Outcome-Based Learning กล่าวคือ มุ่งเน้นการพิจารณาการออกแบบผลลัพธ์จากการเรียนรู้และการออกแบบกระบวนการต่างๆ เพื่อมุ่งสู่ผลลัพธ์ดังกล่าวอย่างเป็นระบบ AUN-QA มุ่งเน้นให้หลักสูตรมีความสอดคล้องระหว่างการออกแบบเป้าหมายการเรียนรู้ของผู้เรียน การออกแบบกลยุทธ์การเรียนการสอน และการออกแบบการประเมินผลการเรียนรู้ หรืออาจกล่าวได้ว่ามุ่งเน้นการดำเนินการอย่างเป็นระบบนั่นเอง หากหลักสูตรมีการพิจารณาข้อมูลต่างๆ และวางแผนการดำเนินการ ตลอดจนบริหารหลักสูตรอย่างเป็นระบบแล้ว หลักสูตรย่อมสามารถตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รอบด้าน ไม่เพียงแต่ผู้เรียนและผู้ใช้บัณฑิตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้สอน สถาบัน รวมถึงหน่วยงานภายนอกต่างๆ อีกด้วย การดำเนินการอย่างเป็นระบบนี้เอง ยังก่อให้เกิดประโยชน์กับคณะฯ ที่ดำเนินการหลักสูตรนั้นๆ อีกด้วย กล่าวคือ เมื่อคณะดำเนินการพัฒนาคุณภาพตามแนวทาง EdPEx หรือการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศแล้ว การดำเนินการบริหารหลักสูตรตามแนวทาง AUN-QA นั้นจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนากระบวนการทำงานในด้านการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของคณะอีกด้วย

มหาวิทยาลัยทักษิณและส่วนงานวิชาการ ได้มีการดำเนินงานตามระบบการประกันคุณภาพ ระดับหลักสูตร (AUN QA) มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 คณาจารย์ในหลักสูตร ได้รับการพัฒนาให้มีความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินงานตามเกณฑ์ AUN QA และเป็นกรรมการประเมินคุณภาพหลักสูตรทั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการดำเนินงานด้าน AUN QA จากมุมมองคณะกรรมการประเมินคุณภาพหลักสูตร คณาจารย์ประจำหลักสูตร ทำให้ได้แนวปฏิบัติที่ดี เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่เป็นเลิศ ในด้านการบริหารจัดการ และการเขียนรายงานประเมินคุณภาพหลักสูตร ดังนี้

1.     การบริหารจัดการในระดับคณะ
1.1 ฝ่ายสนับสนุน ควรสนับสนุนข้อมูลในภาพรวมอย่างเพียงพอ และทันเวลา ไม่สร้างภาระให้กับหลักสูตรในการหาข้อมูล เอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ผลงานนิสิต ผลงานอาจารย์ ข้อมูลการเดินทางไปปฏิบัติงาน หรือข้อมูลอื่นๆ และข้อมูลที่นำมาสนับสนุนการรายงานผลการดำเนินงานตามเกณฑ์ AUN QA ควรมีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำมาเขียนผลการดำเนินงาน ปัญหา และแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจนมากขึ้น
     1.2 การประชุมพูดคุยระหว่างคณะและหลักสูตร เพื่อออกแบบการจัดเก็บข้อมูลให้สอดคล้องกับเกณฑ์ ง่ายต่อการนำข้อมูลมาใช้และรายงานข้อมูล หรือพัฒนาให้เกิด Smart Office เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการนำข้อมูลไปใช้
              1.3 การจัดการเชิงระบบเพื่อสนับสนุนการรายงานผล AUN QA เช่น การคลี่เกณฑ์แต่ละด้านออกมาและวางแผนว่าจะจัดเก็บข้อมูลอย่างไรให้เป็นงาน Routine  หลักสูตรต้องการข้อมูลอะไรบ้าง การประเมินระบบในภาพรวมของคณะ เพื่อนำผลการประเมินระบบมาเขียนให้เห็นการ A(Act)
              1.4 การประชุมวางแผนการปฏิบัติงานประจำปี การจัดสรรงบประมาณประจำปี และกรอบของกิจกรรม/โครงการ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการประกันคุณภาพระดับหลักสูตร
    1.5 การติดตามข้อมูลที่ส่วนกลางของมหาวิทยาลัย ดำเนินการประเมินให้ จะต้องทันเวลา และมีข้อมูลเพียงพอที่จะนำไปรายงานได้
    1.6 การวางระบบงานของหลักสูตรเพื่อสนับสนุนการทำ AUN QA ที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนตลอดเวลา แม้จะมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหาร ก็จะไม่มีผลต่อระบบหรือกระบวนการที่มีประสิทธิภาพที่วางไว้แล้ว
    1.7 การสร้างขวัญ กำลังใจ และการได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารและฝ่ายสนับสนุน เพื่อให้การดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย
    1.8 การสร้างวัฒนธรรมให้เกิดคุณภาพ และทำให้เป็นงานประจำ ทุกคนต้องเชื่อมั่นและศรัทธาในระบบประกันคุณภาพ และหยิบจับส่วนที่ดีมาใช้พัฒนาองค์กร

2.     การบริหารจัดการในระดับหลักสูตร
     2.1 การวาง Output ไม่ชัดคืออุปสรรคในการพัฒนา หากต้องการให้ผลการดำเนินงานได้ตามเป้า  ทุกคนควรมองที่เป้าเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ในหลักสูตร นิสิต ดูกระบวนการที่ทำว่าจะนำไปสู่เป้าหรือไม่ หรือทำอย่างไรให้ได้ถึงเป้าของหลักสูตร
     2.2. การเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการรายงานผลการประเมินคุณภาพหลักสูตร หลักสูตรควรออกแบบให้เป็นระบบและจัดเก็บเป็นประจำต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีการศึกษา เพื่อไม่ให้เป็นภาระในภายหลัง
2.3 การดูตัวอย่างการเขียนจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ หาตัวอย่างการเขียน เนื่องจากที่ผ่านมามีการปฏิบัติแต่นำมาเขียนไม่หมด หลังจากปรับวิธีการเขียนตามตัวอย่างที่ไปศึกษามา ทำให้เขียนได้ดีขึ้น และจะต้องเขียนบรรยาย มีการวิเคราะห์ประกอบ และการศึกษาคู่เทียบเพื่อให้เกิดการพัฒนา
     2.4 ข้อมูลจากการประเมินการเรียนการสอนจากนิสิต เป็นข้อมูลที่สำคัญที่สะท้อนปัญหาและโอกาสในการพัฒนาหลักสูตร อาจารย์ควรสรุปรวมแต่ละประเด็น และรวบรวมประเด็นปัญหา เพื่อหาแนวทางในการพัฒนา
2.5 ประธานหลักสูตรและเลขาหลักสูตรมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานของหลักสูตร ต้องมีข้อมูลของหลักสูตรเพียงพอและสามารถเติมเต็มข้อมูล สื่อสารให้ทุกคนรู้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกัน หากกรรมการมีการสอบถามจะได้ตอบไปในแนวทางเดียวกัน
2.6 รายวิชาที่เน้นการปฏิบัติ เช่น การฝึกงาน การฝึกสหกิจศึกษา สามารถนำมาเขียนได้หลายประเด็น และทำให้ได้คะแนนสูง การปรับ มคอ.ของหลักสูตร จึงต้องเน้นรายวิชาฝึกปฏิบัติให้มากขึ้น

3.     เทคนิคการเขียนรายงานการประเมินคุณภาพ ระดับหลักสูตร
3.1 การเขียนรายงานการประเมินคุณภาพระดับหลักสูตร ควรมีการวางระบบการดำเนินงานตั้งแต่ต้นเพื่อไม่ให้การเขียนรายงานเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นของแต่ละหลักสูตร เช่น การแบ่งสัดส่วนความรับผิดชอบให้อาจารย์แต่ละท่านทราบตั้งแต่ต้นปีว่า ได้รับผิดชอบตัวชี้วัดใด ในการปฏิบัติงานจะได้ออกแบบ วางแผนการปฏิบัติงาน การเก็บรวบรวมข้อมูล/หลักฐาน หรือออกแบบกิจกรรม/โครงการ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของเกณฑ์ อาจารย์ทุกคนมีความรับผิดชอบกิจกรรมของหลักสูตร และเมื่อถึงช่วงเวลาที่ต้องเขียนรายงานการประเมินคุณภาพหลักสูตร จะสามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลและหลักฐานแต่ละตัวบ่งชี้แล้ว “ทุกคนต้องร่วมมือกันในการเขียน อย่าให้คนใดคนหนึ่งเป็นคนเขียน” และใช้ความร่วมแรง ร่วมใจกัน การแบ่งงานกันทำ ในการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย โดยมีประธานหลักสูตรเป็นผู้กำกับติดตามงานในภาพรวม และอาจารย์ทุกคนในหลักสูตรจะรับผิดชอบการบริหารหลักสูตรไปพร้อมๆ กัน
3.2 ในการเขียนรายงาน AUN QA สามารถมอบหมายให้เขียนเป็นส่วนๆ หรือแบ่งกันเขียนได้ แต่ “รายงานผลต้องไม่เป็นขนมชั้น” กรณีที่ต่างคนต่างเขียน หลักสูตรจะต้องมีการประชุมพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อพิจารณารายงานและเติมเต็มให้สมบูรณ์ รวมทั้งการหาเอกสาร/หลักฐาน ที่เกี่ยวข้อง
3.3 การเขียนรายงานการประเมินคุณภาพระดับหลักสูตร ให้ได้คะแนนสูงๆ นั้น ผู้เขียนควรนำหลักการ PDCA มาใช้ (Plan คือ การวางแผน, DO คือ การปฏิบัติตามแผน, Check คือ การตรวจสอบ, Act คือ การปรับปรุงการดำเนินการอย่างเหมาะสม) เขียนให้เห็นถึงการพัฒนาและปรับปรุงจากข้อเสนอแนะของปีที่ผ่านมา และให้ความสำคัญกับขั้นตอน Check, Act  ให้เห็นกระบวนการตรวจสอบและปรับปรุงพัฒนาของหลักสูตร เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม
     3.4 การทำความเข้าใจในเกณฑ์ และตอบคำถามตามเกณฑ์ให้ครบถ้วน รายงานข้อมูลแต่ละตัวชี้วัด ควรมีความจริงใจในการตอบคำถาม ปัญหาคืออะไร จะพัฒนาและแก้ปัญหาอย่างไร เขียนตรงไปตรงมา หากไม่ได้ทำ ควรเขียนให้เห็นว่าจะวางแผนในปีหน้าอย่างไร และไม่ลืมว่าปีที่แล้วได้เขียนอะไรไว้ มีการปฏิบัติตามแผนหรือไม่ มีการกำกับติดตามการดำเนินงานในที่ประชุมของคณะเป็นระยะๆ เพื่อติดตามว่าสามารถดำเนินการได้ตามเป้าที่วางไว้เป็นหรือไม่
     3.5 ผู้เขียนต้องเขียนเป็นเรื่องราวหรือเรื่องเล่า (How Story) เพื่อรายงานการดำเนินการและอธิบายกระบวนการทำงาน โดยตอบคำถามว่า หลักสูตรดำเนินการเรื่องนั้นๆ อย่างไร การดำเนินการนั้นๆ เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอะไร ในการดำเนินการมีใครเกี่ยวข้องบ้าง การดำเนินการนั้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่ การดำเนินการนั้นเกิดขั้นที่ไหน
   


ที่มา : การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 และ
วันที่ 10 เมษายน 2562 ณ คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ

เรียบเรียง : ธรรญชนก  ขนอม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น